ในการค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดการกีฬาตะกร้อในอดีตนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่ากีฬาตะกร้อนั้นกำเนิดจากที่ใด จากการสันนิษฐานคงจะได้หลายเหตุผลดังนี้
ประเทศพม่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 พม่ามาตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น ก็เลยเล่นกีฬาตะกร้อกัน ซึ่งทางพม่าเรียกว่า "ชิงลง"
ทางมาเลเซียก็ประกาศว่า ตะกร้อเป็นกีฬาของประเทศมาลายูเดิมเรียกว่า ซีปักรากา (Sepak Raga) คำว่า Raga หมายถึง ตะกร้า
ทางฟิลิปปินส์ ก็นิยมเล่นกันมานานแล้วแต่เรียกว่า Sipak
ทางประเทศจีนก็มีกีฬาที่คล้ายกีฬาตะกร้อแต่เป็นการเตะตะกร้อชนิดที่เป็นลูกหนังปักขนไก่ ซึ่งจะศึกษาจากภาพเขียนและพงศาวดารจีน ชาวจีนกวางตุ้งที่เดินทางไปตั้งรกรากในอเมริกาได้นำการเล่นตะกร้อขนไก่นี้ไปเผยแพร่ แต่เรียกว่าเตกโก (Tek K'au) ซึ่งหมายถึงการเตะลูกขนไก่
ประเทศเกาหลี ก็มีลักษณะคล้ายกับของจีน แต่ลักษณะของลูกตะกร้อแตกต่างไป คือใช้ดินเหนียวห่อด้วยผ้าสำลีเอาหางไก่ฟ้าปัก
ประกาศไทยก็นิยมเล่นกีฬาตะกร้อมายาวนาน และประยุกต์จนเข้ากับประเพณีของชนชาติไทยอย่างกลมกลืนและสวยงามทั้งด้านทักษะและความคิด
ประวัติตะกร้อในประเทศไทย
ในสมัยโบราณนั้นประเทศไทยเรามีกฎหมายและวิธีการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยการนำเอานักโทษใส่ลงไปในสิ่งกลมๆที่สานด้วยหวายให้ช้างเตะ แต่สิ่งที่ช่วยสนับสนุนประวัติของตะกร้อได้ดี คือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาของรัชกาลที่ 2 ในเรื่องมีบางตอนที่กล่าวถึงการเล่นตะกร้อ และที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ก็มีภาพการเล่นตะกร้อแสดงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้โดยภูมิศาสตร์ของไทยเองก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เราได้ทราบประวัติของตะกร้อ คือประเทศของเราอุดมไปด้วยไม้ไผ่ หวายคนไทยนิยมนำเอาหวายมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านด้วย อีกทั้งประเภทของกีฬาตะกร้อในประเทศไทยก็มีหลายประเภท เช่น ตะกร้อวง ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อชิงธงและการแสดงตะกร้อพลิกแพลงต่างๆ ซึ่งการเล่นตะกร้อของประเทศอื่นๆนั้นมีการเล่นไม่หลายแบบหลายวิธีเช่นของไทยเราการเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า, หนังสัตว์, หวาย, จนถึงประเภทสังเคราะห์ (พลาสติก)
ความหมาย
คำว่าตะกร้อ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า "ลูกกลมสานด้วยหวายเป็นตา สำหรับเตะ"
วิวัฒนาการการเล่น
การเล่นตะกร้อได้มีวิวัฒนาการในการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยแรกๆ ก็เป็นเพียงการช่วยกันเตะลูกไม่ให้ตกถึงพื้นต่อมาเมื่อเกิดความชำนาญและหลีกหนีความจำเจ ก็คงมีการเริ่มเล่นด้วยศีรษะ เข่า ศอก ไหล่ มีการจัดเพิ่มท่าให้ยากและสวยงามขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็ตกลงวางกติกาการเล่นโดยเอื้ออำนวยต่อผู้เล่นเป็นส่วนรวม อาจแตกต่างไปตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ แต่คงมีความใกล้เคียงกันมากพอสมควร
ตะกร้อนั้นมีมากมายหลายประเภท เช่น
- ตะกร้อข้ามตาข่าย
- ตะกร้อลอดบ่วง
- ตะกร้อพลิกแพลง เป็นต้น
เมื่อมีการวางกติกาและท่าทางในการเล่นอย่างลงตัวแล้วก็เริ่มมีการแข่งขันกันเกิดขึ้นในประเทศไทยตาม
ประวัติของการกีฬาตะกร้อตั้งแต่อดีตที่ได้บันทึกไว้ดังนี้
พ.ศ. 2472 กีฬาตะกร้อเริ่มมีการแข่งขันครั้งแรกภายในสมาคมกีฬาสยาม
พ.ศ. 2476 สมาคมกีฬาสยามประชุมจัดร่างกติกาในการแข่งขันกีฬาตะกร้อข้ามตาข่ายและเปิดให้มีการแข่งขันในประเภทประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2479 ทางการศึกษาได้มีการเผยแพร่จัดฝึกทักษะในโรงเรียนมัธยมชายและเปิดให้มีแข่งขันด้วย
พ.ศ. 2480 ได้มีการประชุมจัดทำแก้ไขร่างกฎระเบียบให้สมบูรณ์ขึ้น โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของ เจ้าพระยาจินดารักษ์ และกรมพลศึกษาก็ได้ออกประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. 2502 มีการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 ขึ้นที่กรุงเทพฯ มีการเชิญนักตะกร้อชาวพม่ามาแสดงความสามารถในการเล่นตะกร้อพลิกแพลง
พ.ศ. 2504 กีฬาแหลมทองครั้งที่ 2 ประเทศพม่าได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน นักตะกร้อของไทยก็ได้ไปร่วมแสดงโชว์การเตะตะกร้อแบบพลิกแพลงด้วย
พ.ศ. 2508 กีฬาแหลมทองครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย ได้มีการบรรจุการเตะตะกร้อ 3 ประเภท เข้าไว้ในการแข่งขันด้วยก็คือ
- ตะกร้อวง
- ตะกร้อข้ามตาข่าย
- ตะกร้อลอดบ่วง
อีกทั้งมีการจัดประชุมวางแนวทางด้านกติกาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อสะดวกในการเล่นและการเข้าใจของผู้ชมในส่วนรวมอีกด้วย
พอเสร็จสิ้นกีฬาแหลมทองครั้งที่ 3 กีฬาตะกร้อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก บทบาทของประเทศมาเลเซียก็เริ่มมีมากขึ้น จากการได้เข้าร่วมในการประชุมตั้งกฎกติกากีฬาตะกร้อประเภทข้ามตาข่าย หรือที่เรียกว่า "เซปักตะกร้อ" และส่งผลให้กีฬาตะกร้อข้ามตาข่าย ได้รับการบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 จนถึงปัจุบัน
ประโยชน์และความมุ่งหมายของกีฬาตะกร้อ
ประโยชน์
ในประเทศไทย พลเมืองส่วนมากชอบที่จะดูและเล่นตะกร้อกันโดยทั่วไป แต่การที่จะเล่นให้ได้ดีต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน กีฬาตะกร้อเป็นกีฬาที่สนุกสนานต่อเนื่องเล่นได้ไม่จำกัด เพียงแต่เราฝึกหัดเบื้องต้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถเล่นกีฬาตะกร้อได้แล้ว ราคาของอุปกรณ์ที่ถูกและทนทานใช้สถานที่ในการเล่นน้อย มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- ช่วยให้ประสาททุกส่วนว่องไวและตอบสนองได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยในการทรงตัว
- ช่วยด้านจิตใจ สุขุม รู้แพ้รู้ชนะ การให้อภัย
- ลดความเครียด
- ทำให้ร่างกายแข็งแรง
ความมุ่งหมาย
กีฬาตะกร้อนั้นอาจจะสรุปความมุ่งหมายในธรรมชาติของกีฬาตะกร้อได้อย่างกว้างๆดังนี้คือ
- เล่นง่าย คือเล่นสนุกสนานแต่ถ้าเล่นให้ได้ดีก็ควรต้องมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
- ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ในการเล่น
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์และเวลาในการเล่น
- ทำให้เกิดการตื่นตัว
- ทำให้จิตใจสุขุมเยือกเย็น
- มีระบบในการตัดสินใจรวดเร็วและถูกต้อง
- ทำให้มีระบบประสาททางความคิดดี
- สุขภาพพลานามัยแข็งแรงไร้โรคภัยต่างๆ
- ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน
- ทำให้เกิดความสามัคคีทั้งในหมู่คณะและส่วนรวม
- ทำให้รู้จักการรวมกลุ่มในสังคม การเข้าสังคม
- รู้จักการสร้างความปลอดภัยในการเล่น
- ใช้เป็นแนวทางในการเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ฟุตบอล
- สามารถใช้เป็นแนวทางในการถ่ายทอดศิลปะและอนุรักษ์ศิลปะประจำชาติได้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น